พิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ สภากาชาดไทยรับบริจาควัคซีนเอชพีวี ชนิด 4 สายพันธุ์

Save Print

March 20, 2023 10:38 PM Asia/Bangkok

ข่าวประชาสัมพันธ์ พิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ สภากาชาดไทยรับบริจาควัคซีนเอชพีวี ชนิด 4 สายพันธุ์ จำนวน 800,000 โดส จากบริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนำไปบริการแก่ประชากรกลุ่มเป้าหมาย

วันที่ 20 มีนาคม 2566 – นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย และ ดร.แมรี่ เสรฐภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือสภากาชาดไทยรับบริจาควัคซีนเอชพีวี ชนิด 4 สายพันธุ์ จำนวน 800,000 โดส จากบริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนำไปจัดสรรให้แก่ประชากรกลุ่มเป้าหมาย โดยมี คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เหรัญญิกสภากาชาดไทย พร้อมด้วย นางอนุตรา สินชัยพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม ชั้น 5  ตึกสภานายิกา สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ

         ความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของสภากาชาดไทยตามวิสัยทัศน์สภากาชาดไทย “สภากาชาดไทยเป็นองค์กรสาธารณกุศลของประเทศที่ดำเนินการเพื่อมนุษยธรรมตามหลักการกาชาดสากลมุ่งเน้นการส่งเสริมและช่วยเหลือประชาชน และผู้ด้อยโอกาสด้วยจิตสาธารณะให้มีสุขภาวะที่ดี พร้อมสำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21” โดยบริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีความมุ่งมั่นในการค้นคว้าวิจัย และพัฒนายาและวัคซีน ซึ่งรวมถึงวัคซีนเอชพีวี อันนำไปสู่การกำจัดโรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของสภากาชาดไทย ได้สนับสนุนวัคซีนเอชพีวี ชนิด 4 สายพันธุ์ จำนวน 800,000 โด๊ส รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัคซีน, การตรวจวิเคราะห์, การจัดเก็บและกระจายวัคซีน ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางเรือและประกันภัยในการขนส่งวัคซีน ค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยน บรรจุภัณฑ์ของวัคซีนให้เป็นไปตามที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ค่าใช้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์รุ่นการผลิต (Lot release) กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ค่าใช้จ่ายในการขนส่งหลังจากผ่านขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการศุลกากร จากท่าเรือกรุงเทพเพื่อจัดส่งเข้าที่คลังสินค้าของสภากาชาดไทย และที่คลังสินค้าของ บริษัท ซิลลิคฟาร์มา จำกัด ตามมาตรฐานการจัดเก็บ และกระจายวัคซีน อีกทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการ ขนส่งวัคซีนไปยังหน่วยบริการวัคซีนของสภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข หรือ หน่วยฉีดวัคซีนอื่น ๆ เป็นระยะเวลา 12 เดือน นับจากวันส่งมอบวัคซีนที่บริจาค

โดยสภากาชาดไทย ได้ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานเครือข่าย ได้แก่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดสภากาชาดไทย ได้แก่ สถานเสาวภา สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ในการดำเนินการนำวัคซีนเอชพีวี ชนิด 4 สายพันธุ์ บริการแก่ประชากรกลุ่มเป้าหมายอันจะนำไปสู่การลดอุบัติการณ์การติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก และโรคอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชพีวี เช่น หูดบริเวณอวัยวะเพศ ให้แก่ประชากรกลุ่มเป้าหมาย

               “มะเร็งปากมดลูก” เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในสตรีไทย และคร่าชีวิต ของผู้หญิงไทยโดยเฉลี่ยวันละ 23 คน สาเหตุหลักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมา (Human papillomavirus) หรือที่เรียกว่า ไวรัสเอชพีวี (HPV) โดยติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่อาจนำไปสู่การติดเชื้อเอชพีวีเรื้อรัง เช่น การติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 สามารถนำไปสู่การเกิดมะเร็งของปากมดลูก ช่องคลอด อวัยวะเพศ ทวารหนัก และลำคอ ส่วนการติดเชื้อเอชพีวี สายพันธุ์ 6 และ 11 นำไปสู่การเกิดโรคหูดบริเวณอวัยวะเพศ ดังนั้น การป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนเอชพีวีจึงเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะร่วมกับการเข้ารับตรวจภายในของสตรีอย่างสม่ำเสมอตามเวลาที่แพทย์กำหนด ในส่วนของวัคซีนเอชพีวี ชนิด 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18 เพื่อป้องกันทั้งมะเร็ง และหูดบริเวณอวัยวะเพศ สำหรับประเทศไทยตามแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนเอชพีวีในสตรีไทยอายุ 9-26 ปี โดยวัคซีนจะได้ประโยชน์สูงสุดในผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายสำคัญคือสตรีไทย อายุ 9-14 ปี โดยหากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี สามารถฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน ในกรณีฉีดวัคซีนแก่หญิงไทยอายุ 15-26 ปี จะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ที่ระยะเวลา 0, 1-2 เดือน และ 6 เดือนตามดุลพินิจแพทย์